บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

การฝึกจินตภาพ

การฝึกจินตภาพในปัจจุบันนำไปใช้ประโยชน์กว้างขวางมากขึ้น การฝึกจินตภาพก็จะมีความแตกต่างหลากหลายขึ้นกับว่า ต้องการใช้จินตภาพให้เกิดประโยชน์ในทางใด ในการศึกษาครั้งนี้ จะยกตัวอย่างแนวทางการฝึกจินตภาพจำนวน 2 ตัวอย่าง เพื่อให้เข้าใจการฝึกจินตภาพดีขึ้

ตัวอย่างแรก
เป็นการฝึกจินตภาพของเพยน์ (Payne.  1995 : 144-146) ซึ่งได้กล่าวถึงแนวทางปฏิบัติในการจินตนาการภาพ ดังต่อไปนี้

1) ท่าทาง (Position) ให้ผู้สร้างจินตนาการภาพเอนตัวลงในท่าที่สบาย ในห้องที่มีอุณหภูมิอบอุ่น ปราศจากเสียงดังและไม่ถูกรบกวนแล้วหลับตาลง

2) การเตรียมตัวผ่อนคลาย (Preparatory relaxation)  อัซเตอร์เบิร์ก (Achterberg, 1985 cited in Payne,  1995 : 144)  ได้เสนอว่า การผ่อนคลายกล้ามเนื้อทีละส่วนโดยไม่ต้องเกร็งก่อน (Passive progressive muscle relaxation) นั้นเป็นวิธีที่เหมาะที่จะใช้กับจินตนาการมากกว่าการผ่อคลายกล้ามเนื้อทีละส่วนโดยการเกร็งให้เต็มที่ก่อนแล้วคลายออก (Active progressive relaxation)  

เนื่องจากวิธีนี้จะทำให้ไม่สามารถสร้างจินตภาพได้  การหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องเบาๆ ช้าๆ จะช่วยให้เกิดการผ่อนคลายในระดับลึกผู้สร้างจินตนาการอาจจะท่องวลีที่เหมาะสม เช่น จิตใจของฉันสงบและผ่องใส  ฉันกำลังเปิดรับการจินตนาการที่จะช่วยฉันได้

3) สถานที่พิเศษ  (Special place) ผู้สร้างจินตภาพจะจินตนาการสถานที่พิเศษเพื่อทำให้เกิดความสันโดษ สำหรับการผ่อนคลายและการชักนำ ภาพนี้จะเต็มไปด้วยการสร้างจินตนาการต่อการรับความรู้สึกของการเห็น (Sight) เสียง (Sound) กลิ่น (Smell) รส (Taste) สัมผัส (Texture) อุณหภูมิ (Temperature) และการให้ความรู้สึกสงบและนิ่ง จินตนาการถึงชายหาด ทุ่งหญ้า ทะเลสาบหรือป่าจะช่วยทำให้จินตนาการได้ดียิ่งขึ้น

ผู้สร้างจินตนาการจะถูกสนับสนุนให้สร้างจินตนาการให้ร่างกายรู้สึกว่า อยู่ในสถานที่พิเศษ โดยเน้นให้รู้สึกเหมือนตนเองกำลังจมลงไปบนหญ้านุ่มๆ หรือพื้นทรายนุ่มๆ บางครั้งถ้าสามารถสร้างภาพของจินตนาการได้ตั้งแต่ต้น การสร้างจินตนาการต่อๆ มาก็จะง่ายขึ้น

การสร้างจินตนาการเป็นการทำงานของสมองซีกขวา ซึ่งไม่ได้ถูกควบคุมด้วยความเป็นจริง ดังนั้น การจินตนาการถึงสถานที่พิเศษจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้สร้างจินตนาการ เช่น การจินตนาการเป็นภาพของพระอาทิตย์ส่องแสง ป่าโปร่ง ลูกแก้วคริสตัล เป็นต้น การที่สามารถจินตนาการเป็นภาพเช่นนี้ได้ จะทำให้สามารถเห็นการรับรู้สภาวะทางจิตใจของตนเองได้

4) การจินตนาการด้วยการรับความรู้สึก (Receptive visualization) ผู้สร้างจินตภาพจะสร้างภาพว่า ตนอยู่ในสถานที่พิเศษที่ตนเองชอบและเป็นที่ทำให้เกิดการบรรลุต่อการรู้สภาวะจิตใจของตนเอง ซึ่งเป็นการที่ทำให้บุคคลได้รับฟังตนเอง โดยเป็นการรู้ถึงสภาวะจิตใจของตนเอง แบบยอมตาม ลักษณะเช่นนี้อาจคล้ายกับการฝันกลางวัน (Daydreaming) แต่แตกต่างกันกล่าวคือ จินตภาพนั้น ผู้สร้างจินตนาการจะเป็นผู้ถามคำถามเฉพาะกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลือก การพ่ายแพ้ต่อความขัดแย้ง เปิดเผยแรงจูงใจ หรือเปิดเผยความคิดโดยอัตโนมัติ การจินตนาการด้วยการรับความรู้สึกเป็นหนทางในการเกิดการหยั่งรู้ในทันที ซึ่งเป็นการปลดปล่อยไหวพริบความฉลาดภายในตนเองให้ปรากฏออกมา

ผู้สร้างจินตนาการควรได้รับคำแนะนำว่า ถ้าหากไม่สามารถควบคุมการจินตนาการหรือความรู้สึกที่ไม่ดี  อันอาจจะทำให้ไม่พร้อมที่จะสร้างจินตนาการต่อ ผู้สร้างจินตนาการควรปล่อยวางหรือถอยกลับออกมาหรืออาจจะหยุดการจินตนาการ แล้วค่อยๆ กลับเข้าสู่จิตไร้สำนึกของตนเอง  ถ้าหากทำตามคำแนะนำดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น อาจนำการรับรู้สภาวะทางจิตใจของตนเองมาใช้และขอคำแนะนำต่อไป  การจินตนาการเป็นภาพด้วยการรับความรู้สึกนี้สามารถทำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ หากผู้สร้างจินตนาการเกิดการหยั่งรู้อย่างต่อเนื่อง

5) การพูดกับตนเองทางด้านบวกหรือพูดในสิ่งที่ดีกับตนเอง (Positive self-statements or affirmations)  การพูดกับตนเองทางด้านบวก มักมีความหมายเกี่ยวกับการพูดในสิ่งที่ดีกับตนเอง ช่วยให้ผู้สร้างจินตนาการมองเห็นตนเอง และสามารถตระหนักถึงความปรารถนาและบรรลุไปสู่เป้าหมาย การพูดในสิ่งที่ดีกับตนเองอย่างต่อเนื่องจะทำให้บุคคลนั้นเกิดความมั่นใจในตนเองมากขึ้

ในการพูดกับตนเองทางด้านบวกต้องเป็นคำพูดที่สั้น ในครั้งแรกควรใช้ไวยากรณ์ที่ใช้กันในปัจจุบันจะดีที่สุด ควรเรียบเรียงคำพูดด้วยตนเอง ซึ่งในแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เมื่อพูดซ้ำๆ จะเป็นเหมือนการชักนำให้เกิดการสะกดจิต มีอิทธิพลต่อทัศนะของตนเองทางบวก และเป็นแรงเสริมที่ทำให้เกิดภาพในใจทางด้านบวกของการจินตนาการภาพเป็นหน่วยย่อย (Programmed visualization)

6) การจินตนาการภาพเป็นหน่วยย่อย (Programmed visualization)  ในขั้นนี้บุคคลอาจจะสร้างจินตนาการซึ่งเกิดขึ้นระหว่างขั้นการรับความรู้สึกแล้วพลิกกลับ และพยายามที่จะออกมาจากการรับความรู้สึกเพื่อสร้างรูปแบบการจินตนาการที่แตกต่างกันออกไป เมื่อบุคคลพบวิธีที่ใช้ได้มีประสิทธิผลมากกับปัญหาของตนเอง บุคคลนั้นจะสร้างจินตนาการของตนเองเพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้ตนเองบรรลุผลสำเร็จ

ผลจากการสร้างจินตนาการจะทำให้บุคคลรู้สึกว่าตนได้แสดงออกซึ่งคุณลักษณะที่ตนเองต้องการจะเป็น  เป้าหมายก็คือการเข้าถึงจิตใจ ทำให้ไปสู่การประสบผลสำเร็จ การจินตนาการอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน จะทำให้สามารถสร้างจินตนาการใหม่ และเริ่มที่จะผสมผสานกับอัตภาพของตนเอง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างคำพูดทางด้านบวกภายในตนเองอย่างมาก และทำตามความคิดคาดคะเนของตนเองได้ว่า สามารถนำไปสู่พฤติกรรมดังที่ได้คาดหวังไว้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความคล้ายคลึงกับผลที่ได้จากความต้องการภายในออกมาสู่ชีวิตจริง

การจินตนาการภาพด้วยการรับความรู้สึกและการจินตนาการภาพเป็นหน่วยย่อยนั้นไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน เพราะ การจินตนาการภาพทั้ง 2 ขั้นอาจไม่ได้เกิดเรียงตาม ลำดับกัน

ดังนั้น ผู้สร้างจินตนาการไม่ควรเกิดความรู้สึกกดดันที่จะสร้างจินตนาการทั้ง 2 ขั้นให้แยกจากกัน  ถ้าสามารถสร้างจินตนาการขั้นใดได้ต่อเนื่องกับการจินตนาการภาพก็ถือว่าเหมาะสมไม่มีรูปแบบตายตัวสำหรับการจินตนาการภาพเป็นหน่วยย่อย

7) การยุติการจินตนาการภาพ (Termination) เมื่อได้จินตนาการภาพเสร็จสิ้นแล้ว วิธีการที่จะนำไปสู่การยุติการจินตนาการภาพมีดังต่อไปนี้

ถ้าคุณพร้อมแล้ว ให้ค่อยๆ มุ่งความสนใจกลับมาสู่ห้องที่คุณอยู่นับหนึ่งช้าๆ..สอง..สาม แล้วค่อยๆ ลืมตาขึ้น คุณรู้สึกตื่นตัวและสดชื่น

การจินตนาการภาพมุ่งไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ ควรประกอบด้วยการที่บุคคลเปิดเผยตนเอง ให้เห็นไหวพริบความฉลาดของตนเอง ในขั้นการรับความรู้สึก และการใช้การจินตนาการเพื่อนำมาซึ่งความปรารถนาดังที่ได้คาดหวังไว้ในขั้นการจินตนาการเป็นหน่วยย่อย

ตัวอย่างที่สอง
เป็นการฝึกจินตภาพของวรรณภา  พงษ์ดี (2545 : 58-59) ซึ่งเป็นการวิจัยในระดัมหาบัณฑิต เรื่อง ผลของการฝึกจินตภาพที่มีต่อพฤติกรรมการส่งการบ้านของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

กระบวนการสร้างจินตภาพของวรรณภาดังกล่าว ใช้คำพูดของผู้วิจัยโดยใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวลและพูดช้าๆ เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสย้ายจินตนาการไปสู่อีกภาพหนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง และจะเว้นวรรคในการถามคำถามเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กตอบคำถามตามที่นักเรียนได้เห็นภาพเหตุการณ์ในสถานการณ์นั้น

ผู้ศึกษามีวิธีการบรรยายเพื่อสร้างจินตภาพ 5 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1
ให้นักเรียนนั่งในท่าสบายที่สุด วางแขน ขา อย่างสบายๆ ให้หายใจเข้าออกอย่างช้าๆ (10 วินาที) ค่อยๆ หลับตา  หายใจเข้าลึกๆ แต่ไม่ต้องเกร็ง ทีนี้ให้ความรู้สึกอยู่ที่เท้า รู้สึกว่าเท้ามีความอบอุ่นสบายและหนัก รู้สึกว่าสบายที่เท้า และแผ่ซ่านความอบอุ่นความสบาย รู้สึกว่าร่างกายสบาย  สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ ค่อยๆ ปล่อยลมหายใจออกมาช้าๆ รู้สึกสบายที่ท้อง หน้าอก หลัง ไหล่ แขนทั้งสองข้าง ตอนนี้นักเรียนรู้สึกร่างกายสบาย ผ่อนคลาย ให้อยู่กับความรู้สึกนี้สักครู่หนึ่ง (15 วินาที) ลืมตาได้แล้ว

ขั้นที่ 2
ต่อไปนี้ให้นักเรียนค่อยๆ หลับตา  แล้วนึกภาพว่า นักเรียนกำลังหาสถานที่เพื่อทำการบ้านวิชาคณิตศาสตร์  ตอนนี้นักเรียนได้สถานที่ที่นักเรียนชื่นชอบแล้ว (ถาม) นักเรียนลงมือทำการบ้านคณิตศาสตร์อย่างมีความสุข

ขั้นที่ 3
นักเรียนมองเห็นภาพตัวเองนั่งทำการบ้านคณิตศาสตร์อย่างชัดเจน และภาพนั้นใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ใหญ่ขึ้นๆ นักเรียนมองเห็นตัวอย่างอย่างชัดเจน

ขั้นที่ 4
แล้วตอนนี้นักเรียนนึกภาพว่า นักเรียนนำการบ้านไปส่งที่โต๊ะคุณครู คุณครูยิ้มให้นักเรียน นักเรียนมีความสุขที่ได้ส่งการบ้าน นักเรียนเดินออกจากห้องเรียนอย่างมีความสุข ขอให้อยู่กับเหตุการณ์นี้สักครู่หนึ่ง

ขั้นที่ 5
ต่อไปให้นักเรียนนึกภาพว่า ตัวเองนั่งทำการบ้านจนเสร็จเรียบร้อยอีก 1 ครั้ง และนำไปส่งคุณครูจนกระทั่งเมื่อนักเรียนส่งการบ้านเสร็จ นักเรียนก็ให้รางวัลกับตัวเอง 1 อย่าง  รางวัลนั้น เป็นสิ่งที่นักเรียนอยากได้มานานแล้ว  (ถาม)  ขอให้นักเรียนอยู่กับความพอใจนี้สักครู่หนึ่ง
เอาละคราวนี้ ขอให้นักเรียนผ่อนคลายรู้สึกสบายที่แขน ขา ไหล่ คอ นักเรียนรู้สึกปลอดโปร่ง และอบอุ่นใจ และตั้งใจอย่างแนวแน่ว่า กลับไปถึงบ้านจะทำการบ้านจริงๆ
ขอให้อยู่กับความรู้สึกสบายนี้สักครู่หนึ่ง แล้วจึงค่อยลืมตาขึ้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น