บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ความหมายของจินตภาพ

คำว่า จินตภาพในภาษาอังกฤษ มีการใช้คำหลายคำในความหมายเดียวกัน เช่น Imaging, Imagery, และ Visualization เป็นต้น  ในภาษาไทยมีคำที่คล้ายคลึงกัน 2 คำ คือ จินตภาพ กับ จินตนาการ

ราชบัณฑิตยสถาน (2540 : 47) แปลคำว่า Image ในพจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทยว่า จินตภาพ และให้ความหมายว่า ภาพของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในจิต อาจเป็นภาพของสิ่งที่มีอยู่จริง ซึ่งจิตเคยมีประสบการณ์มาก่อน หรือภาพที่จิตคิดสร้างขึ้นเอง โดยที่สิ่งนั้นไม่เคยมีอยู่เลย 

สำหรับคำว่า imagination ในพจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ-ไทยฉบับเดียวกันนี้

ราชบัณฑิตยสถาน (2540 : 47) แปลว่า จินตนาการ และให้ความหมายว่า การสร้างจินตภาพ การมีจินตภาพ จินตภาพ

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ราชบัณฑิตยสถาน (2546 : 313) ให้ความหมายของคำว่า จินตภาพ ไว้ว่า น. ภาพที่เกิดจากความนึกคิดหรือที่คิดว่าควรจะเป็นเช่นนั้น  ส่วนคำว่า จินตนาการนั้น ในพจนานุกรมฉบับเดียวกันนี้ ราชบัณฑิตยสถาน (2546 : 313) ให้ความหมายว่า น. การสร้างภาพขึ้นในจิตใจ

จะเห็นได้ว่า คำว่า จินตภาพและจินตนาการต่างก็เป็นคำประเภทเดียวกัน คือ คำนาม แตกต่างกันที่ว่า จินตภาพเป็นสามานยนาม คือ คำนามทั่วไป หมายถึง ภาพที่เกิดขึ้นในใจ ซึ่งอาจจะมีประสบการณ์ในการเห็นภาพนั้นมาก่อน  สิ่งที่เห็นนั้นจะมีอยู่จริง หรือเป็นภาพที่จิตสร้างขึ้นเอง โดยที่สิ่งนั้นไม่เคยมีอยู่เลยก็ได้[1]

สำหรับคำว่า จินตนาการนั้น เป็นอาการนาม ซึ่งหมายถึง กระบวนการในการสร้างภาพขึ้นในใจ  ในความหมายของจินตนาการนี้ ราชบัณฑิตยสถาน (2546 : 313) เห็นว่า อาจจะใช้คำว่า จินตภาพแทนได้

ดังนั้น ถ้าจะให้เห็นความแตกต่างระหว่างจินตนาการกับจินตภาพ ก็ควรพิจารณาข้อความนี้ให้เข้าใจ คือ จินตนาการจนเห็นจินตภาพ
จินตภาพมีการฝึกฝนกันมาตั้งแต่สมัยกรีก  เมื่อวิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอนของนิวตัน-กาลิเอโอ-เดส์คาร์ต ได้รับความนิยม เป็นองค์ความรู้สำคัญของยุค จินตภาพถูกละเลยไปเพราะ ไม่สามารถวัด (measurement) ได้ ตามองค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น

แต่ในระยะหลังๆ นี้ นักจิตวิทยาสามารถวัดจินตภาพได้   จินตภาพจึงได้รับความนิยมขึ้นมาอย่างมากแบบเป็นทวีคูณ

ความหมายของจินตภาพจึงมีแตกต่างหลากหลาย ผมขอยกตัวอย่าง 3 ประการหลักๆ ดังนี้

ความหมายของจินตภาพที่ใช้ในการบำบัดรักษาโรค
สตีเฟ่น (Stephen, 1993 : 170) กล่าวว่า การสร้างจินตภาพ หมายถึง วิธีการที่ใช้ติดต่อ สื่อสารระหว่างการรับรู้อารมณ์ และการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งเสมือนสะพานเชื่อมระหว่างความคิด อารมณ์ ร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ โดยการสร้างจินตภาพจะใช้ประสบการณ์เกี่ยวกับความจำ ความฝัน การสร้างมโนภาพ และการมองเห็น

ไทร์แนน (Tiernan, 1994 : 47) กล่าวว่า การสร้างจินตภาพ คือ การมองเห็นภาพในการคิด เห็นจากการรับรู้ จากการสัมผัสทั้งห้าในกระบวนการสร้างจินตภาพ ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรส และการสัมผัส โดยขณะที่สร้างจินตภาพนั้น บุคคลจะมีการตอบ สนองทางด้านสรีรวิทยา โดยไม่รู้สึกตัว ทำให้ผ่อนคลาย และหากสร้างจินตภาพเป็นเวลานานพอ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่จะสังเกตได้

ดอสเสย์ (Dossey, 1997 : 188) กล่าวว่า การสร้างจินตภาพ หมายถึง การใช้ประสบการณ์ที่เกี่ยวกับความจำ ความฝัน การสร้างมโนภาพ และการมองเห็น ร่วมกับการใช้สัมผัสอย่างเดียว หรือหลายอย่างรวมกัน เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ

ละเอียด  ชูประยูร (2538 : 37)  กล่าวว่า การสร้างจินตภาพเป็นการสร้างภาพในจินตนาการ อาจเป็นภาพสถานที่หรือเหตุการณ์ใดก็ได้ ที่บุคคลนั้นคิดขึ้นมาแล้วมีความสุข มีความสบายใจ เช่น ภาพชายหาด ป่าเขาลำเนาไพร ธารน้ำตก สวนดอกไม้ ทุ่งนาเขียวขจี หรือภาพเหตุการณ์ในอดีตที่น่าประทับใจ

ความหมายของจินตภาพที่ใช้ในการฝึกกีฬา
คอกซ์ (Cox, 1985 : 186) กล่าวว่า  จินตภาพ คือ การนึกสร้างภาพเคลื่อนไหวในใจ ที่ทำให้มองเห็น และเกิดจากข่าวสารที่เก็บไว้ในความจำ จินตภาพจะปรากฏในรูปแบบของภาพ และเสียง รวมไปถึงความรู้สึกในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้ออีกด้วย

สมบัติ  กาญจนกิจ และสมหญิง  จันทรุไทย (2545 : 237238) กล่าวว่า จินตภาพเป็นการสร้างภาพการเคลื่อนไหวในใจก่อนการแสดงทักษะจริง ถ้าภาพในใจที่สร้างขึ้นชัดเจน และมีชีวิตชีวามาก ก็จะช่วยให้การแสดงทักษะจริงได้ผลดีขึ้นไปด้วย นอกจากนี้ การสร้างจินตภาพยังช่วยในการควบคุมความวิตกกังวล ความโกรธ หรือความเจ็บปวด

ธวัชชัย  มีศรี (2542 : 3) กล่าวว่า จินตภาพ คือ ความสามารถในการสร้างประสบการณ์การรับรู้ในใจที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว และความรู้สึกต่างๆ โดยปราศจากสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นจากภายนอก

ชูศักดิ์  พัฒนามนตรี (2546 : 15) กล่าวว่า จินตภาพเป็นการสร้างภาพ หรือย้อนภาพเพื่อสร้างประสบการณ์ให้เกิดขึ้นในใจ ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี มีการพัฒนาความสามารถทางการกีฬาได้ดียิ่งขึ้น  สามารถสร้างความเข้าใจในเหตุการณ์ต่างๆ ช่วยในการควบคุมอารมณ์ ลดความวิตกกังวล ความโกรธ หรือความเจ็บปวด ช่วยในการรวบรวมสมาธิ สร้างความมั่นใจในตนเอง และช่วยในการวิเคราะห์ทบทวนทักษะกีฬาต่างๆ

สุพิตร  สมาหิโต (2546 : 16) กล่าวว่า จินตภาพเป็นประสบการณ์ด้านความรู้สึกนึกคิด เช่น การได้เห็น การได้ยิน การได้ฟังความ ซึ่งได้จากประสบการณ์ในการนึกคิด โดยอาศัยความจำ การเห็นภาพจากภายในโดยการระลึกถึง หากเป็นภาพที่เกิดจากสิ่งเร้าภายนอก ก็จะเป็นประสบการณ์ที่ได้รับมาก่อน การสร้างจินตภาพจะเป็นสภาวะความรู้สึกต่างๆ ทางด้านร่างกาย เช่น การเคลื่อนไหวอย่างมีจังหวะ การจัดลักษณะท่าทาง และแม้กระทั่งความรู้สึกด้านจิตใจ เช่น การดีใจเมื่อได้รับชัยชนะ หรือเมื่อเล่นได้ดี เป็นต้น

ความหมายของจินตภาพที่ใช้ในการพัฒนาเรียนรู้
ริชาร์ดสัน (Richardson, 1969 : 271-275) กล่าวว่า การใช้ภาพจินตนาการ (Visual Imagery) เป็นสื่อแสดงถึงความคิดที่เป็นระบบ เป็นการช่วยถ่ายโอนความรู้จากสิ่งที่คุ้นเคยไปสู่สิ่งที่แปลกใหม่ ซึ่งเกิดจากการตีความข้อมูลของแต่ละบุคคล นักเรียนสร้างภาพจินตนาการเพื่อช่วยในการจำเนื้อหาหรือสิ่งต่างๆ และสามารถสะท้อนความเข้าใจออกมาเป็นภาพได้ เพื่อสื่อความเข้าใจและทำให้เกิดการระลึก

แมทลิน (Matlin, 1983 : 96) กล่าวว่า จินตภาพ หมายถึง ภาพแทนในใจของสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง จินตภาพสามารถที่จะแทนเหตุการณ์ หรือวัตถุที่เราเคยมีประสบการณ์มาก่อน และสามารถที่จะแทนเหตุการณ์ หรือสิ่งของต่างๆ จากการที่เราสร้างภาพขึ้นมาเองได้

รัสเซล (Russell, 1985 : 64 cited in Rusevic, 1996) กล่าวว่า การใช้จินตภาพ (Visual Literacy) หมายถึง ความสามารถในการตีความ หรือแปลความรูปภาพที่ใช้สื่อความหมายให้เป็นภาษาอย่างถูกต้อง และความสามารถในการใช้จินตภาพเพื่อสื่อความหมายแทนภาษา โดยมีการจินตนาการเป็นทักษะที่สำคัญ

ฮับบาร์ดและเอินร์ส (Hubbard and Ernst, 1996 : 129) กล่าวว่า จินตภาพหรือการจินตนาการเป็นวิธีทางธรรมชาติสำหรับมนุษย์เหมือนกับการพูด ภาพเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการสื่อสาร การคิด การแสดงออก ตลอดจนการค้นพบ เหมือนกับภาษาถ้อยคำ  ในทันทีที่มนุษย์รู้จักการใช้ภาษา มนุษย์ก็เริ่มรู้จักการใช้ภาพ (Images) ที่อยู่รอบตัวไปสู่การสื่อสารโดยใช้จินตภาพและการคิด

โดยสรุป ภาพสร้างขึ้นในใจ ซึ่งมีวิธีการสร้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความต้องการที่จะนำไปใช้ เช่น ใช้ในการฝึกกีฬา ใช้บำบัดโรค ใช้พัฒนาการเรียนรู้ เป็นต้น
.....................................

อ้างอิง
[1] ตรงนี้ต้องขออธิบายเพิ่มเติมสักนิดหนึ่ง

ในทางปรัชญา มนุษย์ไม่สามารถจินตนาการสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยพบเห็นมาก่อนได้ ข้อความว่า หรือเป็นภาพที่จิตสร้างขึ้นเอง โดยที่สิ่งนั้นไม่เคยมีอยู่เลยก็ได้นั้น หมายถึงว่า สิ่งที่ไม่เคยมีอยู่เลยนั้น จะต้องมีสิ่งที่คล้ายกันเป็นพื้นฐานอยู่ เช่น มังกร หรือครุฑ  เป็นต้น 
มังกรนั้น เราเห็นงู เห็นสิงโตมาก่อน จึงจินตนาการเอาขาของสิงโตใส่เข้าไปในตัวงู แล้วก็จินตนาการให้มีเกล็ด มีหางอันสวยงาม  สำหรับครุฑก็เช่นเดียวกัน เราเคยเห็นนกขนาดใหญ่มาก่อน เราก็จินตนาการเพิ่มเติมเข้าไปให้เป็นครุฑ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น